วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปรัวัติสุนทรภู่


สุนทรภู่




  ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม  หรือ "มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาด ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" 

   สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 8.00 น. นั่นเอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม อีกด้วย

          "สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี

          ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ "พ่อพัด" ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป 

          หลังจากนั้น สุนทรภู่ ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และเขาก็ได้แต่ง "นิราศพระบาท" พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย และหลังจาก "นิราศพระบาท" ก็ไม่ปรากฏผลงานใด ๆ ของสุนทรภู่อีกเลย 

          จนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

          ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง"สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และ เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ"
          "สุนทรภู่" รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์, วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขา คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 ทั้งนี้ ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชมน์ สุนทรภู่จึงลาสิกขา รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษา ก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย 
          ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" 
          สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ"พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น